กลยุทธ์การอ่านหนังสือแบบ SQ3R

SQ3R Reading method

SQ3R เป็นชื่อที่ตั้งมาจาก 5 ขั้นตอนในการอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจ ประกอบด้วย การสำรวจ (survey) ตั้งคำถาม (question) การอ่าน (read) ท่องจำ (recite) ทบทวน (review)

ถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1946 (นานมาก) โดยคุณ ฟรานซิส พี โรบินสัน ในหนังสือชื่อ Effective Study ซึ่งเทคนิคนี้ยังคงเป็นที่นิยมแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

หลายๆคนน่าจะมีประสบการณ์การเปิดหนังสือเสียเวลาอ่านไปหลายชั่วโมงและสุดท้ายพบว่าไม่ได้อะไรจากหนังสือเล่มนั้นเลย เทคนิคนี้จะช่วยให้เวลาในการอ่านของคุณคุ้มค่ามากขึ้น ลองไปดูกัน

S: Survey - สำรวจเพื่อสร้างแผนที่การเรียนรู้

การสำรวจว่าคุณกำลังจะเรียนรู้อะไรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของเทคนิดการอ่านแบบ sq3r สาระสำคัญของส่วนนี้คือการทำให้ตัวเองมองเห็น ภาพรวม ของเนื้อหา หลายๆคนพยายามอ่านเนื้อหาซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่รู้ว่าคำตอบรออยู่หน้าถัดไป หรือเสียพลังงานการอ่านมากมายไปกับส่วนที่เป็น "น้ำ" พอถึงเนื้อหาที่สำคัญจริงๆก็หมดพลังแล้ว

ผมอยากให้ลองเปรียบเทียบกับการขับรถโดยไม่มีแผนที่ครับ คุณจะขับได้ช้ามากถ้าไม่รู้ว่าจะต้องชิดซ้ายหรือชิดขวาหรือตรงไหนต้องระวัง แต่ถ้าคุณมีแผนที่คุณจะสามารถขับได้เต็มสปีดและช้าลงในช่วงที่ต้องระวัง เนื่องจากคุณรู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง การอ่านก็เช่นกันครับ :)

การสำรวจเนื้อหาไม่ควรใช้เวลานาน การอ่านจะเป็นแบบอ่านผ่านๆ(skim through) ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่ควรใช้เวลาเกิน 5 นาทีต่อการสำรวจหนึ่งบท

สิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญระหว่างสำรวจเนื้อหามีดังนี้

  • สารบัญ - สารบัญทีดีจะบอกภาพรวมของหนังสือทั้งเล่มและทำให้ผู้่อ่านเห็นภาพคร่าวๆของเนื้อหา
  • ชื่อเรื่องและหัวข้อ - เป็นตัวบอกแนวคิดหลัก หัวข้อที่ดีจะเป็นประโยคสรุปเนื้อหาภายใต้หัวข้อนั้นๆ
  • รูป - บางครั้งรูปๆเดียวสามารถสื่อความหมายตัวอักษรหลายๆหน้าได้
  • บทเกริ่มนำ/สรุป - บทเกริ่นจะบอกว่าคุณกำลังจะเรียนรู้อะไร บทสรุปจะบอกว่าคุณได้เรียนรู้อะไรไปแล้วบ้าง บางครั้งบทเกริ่น/สรุปจะอยู่ในย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้าย
  • คำเน้น - จะอยู่ในรูปแบบตัวเอียง ตัวหนา ขีดเส้นใต้ ส่วนใหญ่คำเน้นเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญหรือเป้นแนวคิดหลักเสมอ

Q: Question - ตั้งคำถาม

หลังจากทำการสำรวจแล้ว คุณควรจะได้แนวคิดคร่าวๆว่าสิ่งที่กำลังจะเรียนรู้มีอะไรบ้าง เขียนคำถามหรือสิ่งที่สงสัยลงบนกระดาษให้เป็นคำถามปลายเปิดซึ่งใช้ข้อความ "อะไร" "ที่ไหน" "เมื่อไหร่" "อย่างไร" "ใคร" เป็นแนวทางในการตั้งคำถาม

ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามเดาคำตอบล่วงหน้าว่า สิ่งที่คุณตั้งคำถามนั้น คำตอบมันคืออะไร ใส่จินตนาการลงไป ผิดถูกไม่สำคัญ การทำเช่นนี้จะทำให้คุณจดจำและเข้าใจเนื้อหาได้แม่นยำขึ้นเมื่อคุณทำการอ่านรายละเอียดเพื่อตอบคำถามที่คุณตั้งขึ้นมา

R1: Read - อ่าน!

ขั้นตอนนี้คือการอ่านลงรายละเอียดเพื่อตอบคำถามที่คุณตั้งขึ้นมาในกระบวนการที่แล้ว การอ่านโดยมีคำถามอยู่ในใจจะทำให้คุณจดจ่ออยู่กับเนื้อหาได้ดีขึ้น เขียนคำตอบและคอยจดบันทึกใจความสำคัญที่คุณได้อ่าน ในขั้นตอนนี้คุณยังคงควรจดคำถามเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นในระหว่างการอ่าน เพื่อนำมาหาคำตอบเพิ่มเติมครับ

R2: Recite - ท่องจำ

หลังจากแน่ใจแล้วว่าคุณในสร้างคำถามหาคำตอบในบทนั้นๆจนครบถ้วนแล้ว ให้นำคำถามมาทบทวนดูอีกครั้งว่าคุณสามารถจำคำตอบที่ถูกต้องได้หรือไม่ ให้ทบทวนคำถามคำตอบจนแน่ใจว่าคุณสามารถจดจำคำตอบได้แม่นยำแล้ว เขียนสรุปเนื้อหา แผนภาพหรือ mind map ในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ทบทวนได้ในอนาคต ก่อนที่จะเริ่มอ่านในบทถัดๆไป

R3: Review - ทบทวน

ถ้าหากไม่มีการทบทวนเลยคุณสามารถจะลืมสิ่งที่ได้เรียนรู้ภายในเวลาไม่กี่วัน ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องมีการ "ทบทวน" สิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อให้การลงทุนเวลาในการอ่านของเราไม่สูญเปล่า การทบทวนไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลามากเนื่องจากเราสามารถทบทวนจากสรุปที่เราได้สร้างไว้ในขั้นตอนที่แล้ว แต่เราจำเป็นจะต้องทำการทบทวนอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงเวลาแรกๆ คุณอาจจะใช้เวลาทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยใช้เวลา 10 นาทีทุกๆวันในช่วงอาทิตย์แรก หลังจากนั้นอาจจะเป็นการทบทวนวันเว้นวัน อาทิตย์ละครั้ง จนถึงเดือนละครั้งในภายหลัง

สรุปก็คือการอ่านแบบ sq3r คือการวางโครงสร้างการอ่านของเราให้มีระบบ เริ่มตั้งแต่การวางแผนว่าเรากำลังจะเรียนรู้อะไร ไปสู่กระบวนการเรียนรู้และการทบทวน หวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ

สอบถาม ติชม เสนอแนะ ได้ที่ช่อง comment ด้านล่างเลยครับ

Copyright © 2024. All rights reserved - Ninenote.net